ไม่เหมือนเดิม, สรกล อดุลยานนท์

7 July 2012 1 comment

ไม่เหมือนเดิม, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

เจอนักธุรกิจกี่คน ทุกคนล้วนแต่เบื่อ “การเมือง” กันทั้งสิ้น

ล่าสุด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ก็ย้ำอีกครั้งในงาน 36 ปีหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ถ้าการเมืองไทยนิ่ง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างมโหฬาร

โดยเฉพาะในวันที่ “อาเซียน” กำลังเป็นซุปเปอร์สตาร์ ที่ทั้ง “จีน” และ “สหรัฐอเมริกา” ต้องเอาใจ

ขนาดการเมืองไทยรบกัน 2-3 ปีติดต่อกัน เศรษฐกิจไทยยังเติบโต

เจอน้ำท่วมใหญ่ก็ยังโต

แล้วคิดดูสิว่าถ้าการเมืองนิ่ง เมืองไทยจะเป็นอย่างไร

ถามว่านักการเมืองรู้ไหม

รู้ยิ่งกว่ารู้

แต่เพราะรากของความขัดแย้งหยั่งลึกลงในสังคมไทยยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ การเมือง

จึงไม่ “นิ่ง” เสียที

“ความรัก” ทำให้คนตาบอดฉันใด

“ความแค้น” ก็ทำให้จิตใจของคนมืดบอด

ฉันนั้น

คิดถึง “เป้าหมาย” ที่จะทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่สนใจว่า “วิธีการ” นั้นถูกต้องหรือไม่

กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนที่สุด

ปรมาจารย์ด้านกฎหมายกันทั้งนั้น

แต่ไม่ละอายใจเลย

กล้าพูดในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ

คนเราเวลาพูดในสิ่งที่ไม่เชื่อ ตรรกะมักสับสน

เพราะแทนที่จะคิดถึง “เหตุ” ก่อน “ผล”

กลับปักธงที่ “ผล” แล้วค่อยหา “เหตุ” มาสนับสนุน

พอวิธีคิดผิด คำพูดก็เลยสับสน

แค่สรุปว่าคำว่า “และ” กับ “หรือ” มีความหมายเหมือนกัน

อาจารย์ภาษาไทยทั่วประเทศก็งงแล้ว

หรือคนบางคนลืมไปว่าพูดอะไรไว้ในอดีต ในวันที่ไม่ได้ปักธงไว้ล่วงหน้า

เมื่อคิดอย่าง แต่พูดอย่าง เพราะ “ความแค้น” บังตา

หรือมี “ธง” อยู่ในใจ

ตรรกะจึงสับสน

โบราณเขาจึงบอกว่าคนพูดความจริง

ต่อให้พูด 100 ครั้งก็ยังเหมือนเดิม

แต่คนพูดโกหก พูดกี่ครั้งย่อมไม่เหมือนเดิม

มติชนรายวัน 7 กรกฎาคม 2555, คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12

มติชน, 7 กรกฎาคม 2555

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

5 July 2012 Leave a comment

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเพิ่งได้อ่านงานวิจัยเรื่อง “โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย” ของ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นจากข้อมูลสถิติหลายอย่างว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม และอุดมการณ์ซึ่งเกิดในสังคมไทยในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่ความตึงเครียดและแตกร้าวในประเทศไทยขณะนี้อย่างไร

ในขณะที่การ “ปรองดอง” กำลังเป็นปัญหาที่ถกเถียงจนถึงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง งานวิจัยของ อ.ธเนศน่าจะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนลงได้บ้าง เพราะ อ.ธเนศกำลังพูดว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาหลายปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 โดดๆ หรือเพราะทักษิณ หรือเพราะสถาบันและเครือข่ายใดๆ เท่านั้น แต่มีพื้นฐานมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คลี่คลายมานานกว่าสามทศวรรษ

การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ตามความเข้าใจของผม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยครั้งนี้ แตกต่างจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ใน พ.ศ.2475 นอกจากเหตุผลทางการเมือง, สังคม และอุดมการณ์แล้ว ยังมีการผลักดันของกลุ่มทุนภายในบางกลุ่ม ที่ต้องการให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สนใจตอบสนอง (รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่ตอบสนองเช่นกัน และทำความผิดหวังแก่กลุ่มทุนภายใน)

ส่วนหนึ่งของ 14 ตุลา เกิดขึ้นจากการเติบโตของคนชั้นกลางในเขตเมือง ภายใต้นโยบายพัฒนา ในขณะที่กลุ่มทุนก็ต้องการอิสรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากการ “กินหัวคิว” ของนายทหารในกองทัพ

ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากระทบต่อคนระดับบน พลังของคนระดับบนเป็นหลักในการผลักดันให้ต้องเปลี่ยนระบบการเมืองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในสามทศวรรษหลังนี้ กระทบต่อคนเกือบทุกชั้นในสังคมไทย แผ่ไปกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พลังที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มมาก อย่างที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน

คนระดับล่างซึ่งนับวันต้องอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น แม้แต่ที่อยู่รอดในภาคเกษตร ก็เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์เต็มตัว ต้องการความมั่นคงในชีวิตเศรษฐกิจของตนอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งชีวิตตามจารีตประเพณีไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและทำงานในเมือง ก็พบว่าชีวิตของตนขาดความมั่นคงเช่นกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่า ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นนี้ ยากที่แต่ละปัจเจกจะสามารถแสวง หาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเป็นกลุ่มคนที่หวาดระแวงต่อความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

ไม่ต่างจากทุนขนาดใหญ่ที่หากำไรกับการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ยิ่งนับวันก็ยิ่งถูกผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ซ้ำยังมีเอสเอ็มอีที่เริ่มผลิตสินค้าคุณภาพแข่งขันมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยนั้น จะเห็นได้ดีในอัตลักษณ์ใหม่ๆ และหลากหลายที่เกิดขึ้นในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ลูกศิษย์หลวงพ่อดังๆ ทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องมีวัตรปฏิบัติส่วนตนที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะ หรือญาติธรรม ที่ต่างถึงขนาดเครื่องนุ่งห่มและทรงผม ไปจนถึงป้าย “เรารักในหลวง” หรือ “แวร์อาร์ยู ทักษิณ” (ขอให้สังเกตว่าไม่ใช่ป้ายบริษัท, องค์กรที่ตนทำงานอยู่ หรือกองทัพ) และแน่นอนย่อมรวมเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อหลากสี ฯลฯ ด้วย โดยสรุปก็คือ ผู้คนเริ่มมองเห็นตนเองแตกต่างไปจากเดิม และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมมองความสัมพันธ์ของตนเองกับคนอื่นหรือสังคมแตกต่างไปจากเดิมด้วยเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ “ระบบ” ที่เคยทำงาน ไม่อาจทำงานอย่างเดิมได้อีกต่อไป ผมขอยกตัวอย่างเพียงกำลังของระบบเดิมที่ใช้ในการบังคับควบคุม (coercive forces) ที่สำคัญคือกองทัพ และคนในกระบวนการยุติธรรม

ดูเผินๆ เหมือนสถาบันเหล่านี้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในแง่ของบทบาทอาจจะใช่ คือยังคงทำหน้าที่ปกป้องระบบเดิมด้วยอำนาจที่อยู่ในมือ แต่ที่จริงแล้วเกิดความเครียดอย่างมากขึ้นในสถาบันทั้งสองอย่างยิ่ง

การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวที่จะรักษาระบบไว้ให้มั่นคงเหมือนเดิม บอกให้กองทัพรู้ว่า เครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงการเมืองของกองทัพนั้นเริ่มไร้ประสิทธิภาพเสียแล้ว อย่างน้อยต้นทุนก็สูงเสียจนอาจไม่คุ้ม การใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อสลายฝูงชนได้สำเร็จ แต่ยังกลายเป็นปัญหาที่อาจหันมาทิ่มแทงกองทัพได้จนบัดนี้

ภายในกองทัพเองก็มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น ทหารเกณฑ์มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก ยุคสมัยของการผูกผ้าที่แขนเพื่อให้ซ้ายหันขวาหันถูกต้องหมดไปแล้ว ผลการเลือกตั้งในเขตดุสิตครั้งสุดท้ายนี้ชี้ให้เห็นว่าทหารไม่ได้หันไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ขัดคำสั่งโดยไม่ถูกจับได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ที่เคยมีพลังครอบงำคนทั้งกองทัพได้กำลังถูกสั่นคลอน ปราศจากอำนาจทางอุดมการณ์ ก็เหลือแต่อำนาจที่ต้องอิงกับความชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้กองทัพต้องอยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือน (โดยเฉพาะนักการเมือง) มากยิ่งขึ้น

คนในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, ตุลาการ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ แม้แต่ตัวกฎหมายเองก็ถูกผู้คนตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา, แพ่ง วิธีพิจารณาความ ในวงการตุลาการ เราไม่มีคนที่มี “บารมี” สูงจนเป็นที่เชื่อฟังอย่างกว้างขวาง เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, หรืออดีตผู้พิพากษาเรืองนามอื่นๆ มานานแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้บอกว่า ผู้พิพากษาที่เก่งและดีไม่มีอีกแล้ว แต่บอกว่ามาตรฐานของความเก่งและความดีในวงการผู้พิพากษาได้เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ กัดกร่อนความเชื่อมั่นตนเองในวงการสื่อไปมาก แม้แต่งบโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ก็เริ่มถูกเบียดเบียนจากโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ต้องพูดถึงงบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งหดหายลงตลอดมาหลายสิบปีแล้ว

ในขณะที่คนจำนวนมากซึ่งต้องเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเต็มตัว ย่อมต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมือง กำลังหวาดระแวงกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะได้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจของตนตลอดมา จึงหันไปทุ่มเทความพยายามในอันที่จะไม่ให้ระบบการเมืองเปลี่ยน เช่น คนเหล่านี้กลับไปเป็นนักกษัตริย์นิยมอย่างสุดโต่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยมีประวัติของความเป็นกษัตริย์นิยมที่เหนียวแน่นนักมาก่อน ทั้งนี้เพราะอยากใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งสมอที่จะหยุดการก้าวเดินไปข้างหน้า (เช่นหยุดโลกาภิวัตน์ไว้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง)

ในภาวะที่มีความขัดแย้งกันอย่างสูงเช่นนี้ ข้อเสนอที่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่นการสร้างกติกาของความขัดแย้งใหม่ ล้วนไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ สิ่งที่น่าคิดก็คือจะหาข้อเสนอระดับกลาง (intermediate measures) ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง แต่เป็นที่ยอมรับกันได้หลายฝ่ายได้อย่างไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ น่าจะเป็นที่ยอมรับได้แก่หลายฝ่าย อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรทุกชนิดในสังคมไทยไม่ควรกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะส่วนกลาง แต่ต้องสร้างกลไกและกระบวนการที่จะทำให้คนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” ของความขัดแย้งโดยตรง แต่จะมีผลลดระดับความขัดแย้งลงไปเป็นอันมาก (หากทำได้สำเร็จ) การเมืองจะไม่กระจุกตัวในส่วนกลาง ที่กล่าวกันว่าการเมืองไทยเป็นเกมส์ “กินรวบ” คือใครได้ก็ได้หมด ใครเสียก็เสียหมดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากสันดานของนักการเมืองไทย แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขในการจัดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกไว้กับส่วนกลางมากเกินไป ทำให้ใครได้ตำแหน่งบริหารก็จะมีอำนาจล้นฟ้าโดยอัตโนมัติ การกระจายอำนาจจะทำให้ไม่มีวันที่ใครจะได้อะไรหมดฝ่ายเดียว เพราะมีคนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามาถ่วงดุลอยู่เสมอ

ประชาชนระดับล่างสามารถเข้ามามีบทบาท หรือกำกับควบคุม การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตนเอง ทั้งในรูปงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร, งบประมาณที่มาจากแหล่งรายได้ของตนเอง และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งผู้บริหารที่อยู่ในโอวาทของประชาชน ไม่ใช่โอวาทของพี่ชาย

คนชั้นกลางที่มีการศึกษาย่อมมีอิทธิพลทางด้านความคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอยู่แล้ว ใครจะบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งได้ดี หากไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมได้จริง

คนที่กลัวการรัฐประหาร การกระจายอำนาจจะทำให้ผู้ทำรัฐประหารไม่รู้จะ “ยึด” อะไร เพราะไม่มีศูนย์กลางอะไรให้ยึด แม้แต่สถานีโทรทัศน์ก็ไม่รู้จะยึดช่องไหนดี เพราะไม่มีอำนาจของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมาบังคับให้ทุกช่องต้องถ่ายทอด

ความแตกแยกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ-สังคม-อุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่ม ระหว่างชนชั้น แม้แต่เมื่อชนชั้นนำสามารถเจรจารอมชอมกันได้ ก็หาได้ทำให้ความขัดแย้งที่แท้จริงหมดไปไม่

ผู้ซึ่งมีหน้าที่คิดเรื่องการ “ปรองดอง” ควรคิดถึงมาตรการระดับกลางเช่นนี้ให้มาก เพื่อจะนำไปสู่การรอมชอมที่แท้จริงของภาคประชาชน ไม่ใช่การเกี้ยเซี้ยที่มุ่งจะรักษาระบบการเมืองให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มติชนรายวัน, 2 กรกฎาคม 2555

เขม่า, สรกล อดุลยานนท์

3 July 2012 Leave a comment

เขม่า, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

ในห้องเรียนวันหนึ่ง “ไอน์สไตน์” ตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า…

“มีคนซ่อมปล่องไฟสองคน กําลังซ่อมปล่องไฟเก่า พอพวกเขาออกมาจากปล่องไฟ ปรากฏว่าคนหนึ่งตัวสะอาด อีกคนตัวเลอะเทอะเต็มไปด้วยเขม่า ถามว่า คนไหนจะไปอาบน้ำก่อน”

นักศึกษาคนหนึ่งยกมือตอบทันที “คนที่ตัวสกปรกเลอะเขม่าควัน”

“ไอน์สไตน์” ยิ้มนิดนึงแล้วตั้งคำถามต่อ

“นักศึกษาลองคิดดูให้ดีนะ คนที่ตัวสะอาด เห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน เขาก็ต้องคิดว่าตัวเขาออกจากปล่องไฟเหมือนกันก็ต้องสกปรกเหมือนกันแน่เลย ส่วนอีกคนเห็นฝ่ายตรงข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่าตัวเองก็สะอาดเหมือนกัน”

“ตอนนี้ ผมขอถามพวกคุณอีกครั้งว่า ใครที่จะไปอาบน้ำก่อน”

นักศึกษาอีกคนรีบยกมือ ตอบด้วยเสียงที่ตื่นเต้นว่า “ผมรู้แล้วครับ พอคนตัวสะอาดเห็นอีกคนสกปรก ก็นึกว่าตัวเองต้องสกปรกแน่ ส่วนคนที่ตัวสกปรกเห็นอีกคนตัวสะอาด ก็นึกว่าตัวเองไม่สกปรกเลย ดังนั้น คนที่ตัวสะอาดต้องวิ่งไปอาบน้ำก่อน ?.. ถูกต้องไหมครับ”

“ไอน์สไตน์” กวาดสายตาไปรอบห้อง นักศึกษาทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยกับคําตอบนี้

“คําตอบนี้ก็ผิด เพราะทั้งสองคนออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนหนึ่งสะอาด อีกคนหนึ่งจะสกปรก” เขายิ้มแล้วสรุป

“นี่แหละที่เขาเรียกว่า…ตรรกะ”

“ไอน์สไตน์” บอกว่า เมื่อความคิดของคนเราถูกชักนําจนสะดุด ก็จะไม่สามารถแยกแยะและหาเหตุผลแห่งเรื่องราวที่แท้จริงออกมาได้

เราจึงลืม “ความเป็นเหตุเป็นผล” ในเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุด

เหตุที่นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเห็นข่าวเรื่องอุบัติเหตุ “นาซา” ในเมืองไทย

จากเรื่อง “วิทยาศาสตร์” บริสุทธิ์ เมื่อมีนักการเมืองมาชี้นำให้กลายเป็นเรื่อง “ความมั่นคง” และ “การเมือง”

คนจำนวนมากก็ถูกชี้นำจนลืม “ตรรกะ” พื้นฐาน

ลืมว่าเทคโนโลยีดาวเทียมวันนี้ไปไกลมากแล้ว แค่โปรแกรม “กูเกิล เอิร์ธ” ก็สามารถมองเห็นหลังคาบ้านของทุกคนได้แล้ว

ดาวเทียมทหารของสหรัฐอเมริกาจึงน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ไม่แปลกหรอกที่รัฐมนตรีบางคนจะพูดเล่นๆ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องสหรัฐอเมริกาจะจารกรรมความลับด้านความมั่นคงของไทย

“ยังเหลืออะไรที่เขาไม่รู้อีกบ้าง”

เรื่องบางเรื่องที่คนไทยไม่รู้ แต่สหรัฐอเมริการู้ดีมาก

กรณี “วิกิลีกส์” ชัดเจนที่สุด

ไม่แปลกหรอกที่นักวิทยาศาสตร์ไทยจะโกรธมากที่โครงการนี้ล้มลงเพราะ “การเมือง”

เพราะเป็นการเสียโอกาสการเรียนรู้ครั้งสำคัญ

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์คงรู้แล้วว่าเกมการเมืองครั้งนี้ เขาต้อง “จ่าย” อะไรไปบ้าง

“เขม่า” บนตัวคือ “คำตอบ” ที่ดีที่สุด

มติชน, 30 มิถุนายน 2555

ระบอบอำมาตย์ชราธิปไตย, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

21 June 2012 Leave a comment

ระบอบอำมาตย์ชราธิปไตย, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองประเภทหนึ่ง ซึ่งควรจะมีชื่อเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “อำมาตย์ชราธิปไตย”

อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีในการครอบงำสังคมการเมืองไทยของพลังฝ่ายอำมาตย์ในห้วงระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยปรากฏเป็นรูปแบบและโครงสร้างในทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมา การครอบงำทางการเมืองของฝ่ายอำมาตย์ในสังคมการเมืองจะดำเนินไปโดยผ่านพลังของสถาบันทหาร ในด้านหนึ่งจะเป็นการใช้กำลังอำนาจในการเข้าแทรกแซงระบบการเมืองด้วยการรัฐประหารที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง และในสภาวะ “ปกติ” ก็ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองผ่านการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ซึ่งจะมีอำนาจมากไปถึงมากที่สุดผันแปรไปตามแต่ละยุคสมัย

แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและการขยายอิทธิพลของระบอบประชาธิปไตยในระดับโลก ทำให้การครอบงำของพลังฝ่ายอำมาตย์ไม่อาจจะดำเนินไปในรูปแบบเดิมอีกต่อไป เนื่องอาจต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากภายในและแรงกดดันจากนานาอารยประเทศ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนลักษณะของการครอบงำมาสู่รูปแบบอำมาตย์ชราธิปไตย

โดยอำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการแทรกตัวเข้ามาในการขยายตัวของพลังประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 2540 อันปรากฏขึ้นพร้อมกับความตกต่ำทางด้านความชอบธรรมของนักการเมืองจากการเลือกตั้งที่ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง แม้จะสามารถสร้างอำนาจนำทางการเมืองในระบบได้ จึงเป็นการเปิดทางให้กับพลังอำมาตย์เข้ามาช่วงชิงพื้นที่ของระบบการเมืองอย่างเป็นทางการในตำแหน่งขององค์กรอิสระที่ได้ถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

อำมาตย์ชราธิปไตย มีลักษณะสำคัญที่ผันแปรไปจากอำมาตยาธิปไตย ดังนี้

ประการแรก บุคคลที่จะมาทำหน้าที่จะมิใช่มาจากแวดวงทหารซึ่งเป็นผู้ยึดกุมอาวุธยุทโธปกรณ์ในการสงครามเช่นเดิม หากจะมาจากแวดวงตุลาการเป็นสำคัญ แม้จะมีได้มีปืน รถถัง กำลังพล แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมาจากการอ้างความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ซึ่งสามารถจะตีความ/ให้ความหมายต่อกฎหมาย และสามารถทำให้บางฝักบางฝ่ายต้องสูญอำนาจในทางการเมืองไปได้ หากพิจารณาในแง่มุมดังกล่าวนี้ก็อาจไม่มีความแตกต่างไปจากการใช้รถถังในการยึดอำนาจรัฐในเชิงเนื้อหาแต่อย่างใด

อนึ่ง ก่อนที่จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระได้แทบทั้งหมดต้องดำรงตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูงของระบบราชการ ดังนั้น จึงทำให้บุคคลต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีอายุที่สูงหรืออยู่ในวัยชราอันเป็นบั้นปลายของชีวิต หากเปรียบเทียบกับข้าราชการในฝ่ายอื่นๆ ก็เป็นช่วงชีวิตขาลงที่เตรียมตัวเกษียณอายุราชการไปเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน แต่สำหรับคนกลุ่มนี้อาจเป็นจุดเริ่มในการป่ายปีนเข้าสู่แวดวงอำนาจทางการเมือง

ประการที่สอง การใช้อำนาจจะเข้ามาโดยผ่านองค์กรอิสระอันเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการชี้เป็นชี้ตายในการแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ

รูปแบบของอำมาตย์ชราธิปไตยจึงมิใช่การใช้อำนาจแบบดิบๆ ในทางการเมืองเฉกเช่นเดียวกับการรัฐประหารที่ปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองรองรับ แต่อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการใช้อำนาจที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมือง และในกรณีที่ถูกโต้แย้งว่าไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับก็ต้องพยายามยืนยันว่าเป็นการใช้อำนาจตีความตามบทบัญญัติ (โดยหากไม่เชื่อก็สามารถเปิดอ่านรัฐธรรมนูญภาษาอังกฤษได้)

ประการที่สาม นอกจากการอ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมายแล้ว บรรดาบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยมักอ้างอิงถึงคุณลักษณะความดีความชั่วของบุคคล โดยเน้นย้ำถึงการสนับสนุนต่อการทำความดีและประณามการกระทำความชั่ว แน่นอนว่า การให้คำอธิบายเช่นนี้ย่อมก็สามารถกระทำได้ แต่ปัญหาก็คือว่าบุคคลที่เป็นคนดีก็มักอยู่แค่ในแวดวงของอำมาตย์ชรา และคนชั่วอยู่คือบรรดานักการเมืองเห็นแก่ตัว

สิ่งที่ติดตามมาก็คือหากบุคคลใดเป็นคนชั่วในทัศนะของอำมาตย์แล้วก็จะต้องถูกกำจัดไป ไม่ว่าจะด้วยวิถีใดๆ ก็ตาม จะโดยชอบรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ขอให้เพียงเป้าหมายดี วิธีการจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้น หากถึงที่สุดแล้วถ้าจำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญก็ย่อมกระทำได้เพื่อปราบหมู่มารในสังคม

พร้อมกันไปก็มีการสร้างระบบการตรวจสอบแบบเข้มข้นกับนักการเมือง ขณะที่กับบรรดาอำมาตย์ด้วยกันแล้วไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเกิดขึ้นแต่ประการใด ถึงจะมีเรื่องฉาวโฉ่นานัปการเกิดขึ้น ไม่ว่าการใช้เส้นสายฝากงาน การวินิจคดีแบบไร้หลักวิชา แต่นั่นก็เป็นการใส่ร้ายจากฝ่ายตรงกันข้าม คนดีๆ อย่างพวกเราจะกระทำความชั่วได้อย่างไร คนดีย่อมดีวันยังค่ำไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบแม้แต่น้อย

แน่นอนว่า ปัญหาสำคัญของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยก็เช่นเดียวกันกับระบอบอำมาตยาธิปไตยในรูปแบบเดิมคือ เป็นการแทรกตัวเข้ามาครอบงำสังคมการเมืองไทยโดยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือจุดยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ทั้งในด้านที่มา การตรวจสอบ การควบคุม อำมาตย์ชราสามารถดำเนินการในเรื่องด้านได้ตามแต่ใจต้องการ

อันเป็นปมประเด็นถกเถียงสำคัญว่าสถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อยได้หรือไม่ หรือลำพังเพียงการเป็น “คนดี” ก็สามารถดำรงสถานะอยู่ได้ในสังคมการเมืองไทยได้โดยไม่ต้องถูกแตะต้องแต่อย่างใด

กรุงเทพธุรกิจ, 21 มิถุนายน 2555

ระบบนิเวศน์ใหม่ ทางการเมือง, นิธิ เอียวศรีวงศ์

19 June 2012 Leave a comment

ระบบนิเวศน์ใหม่ ทางการเมือง, นิธิ เอียวศรีวงศ์

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิชาการที่เข้าไปศึกษาคนเสื้อแดงในภาคเหนือและอีสาน ต่างพูดตรงกันถึงแกนนำในท้องถิ่นของขบวนการ คนเหล่านี้ประกอบด้วยคนหลากหลายจำพวก ที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองก็ใช่ แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ ที่มากกว่ากลับเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ, ผู้รับเหมา, นายหน้าแรงงาน, พ่อค้าร้านอาหาร, อุปกรณ์การเกษตร, เจ้าของโครงการบ้านจัดสรร, เจ้าของอู่ซ่อมรถ, เจ้าของร้านเกมส์ ฯลฯ รวมไปถึงข้าราชการซึ่งเป็นคนท้องถิ่น และแม่บ้าน

ถึงจะหลากหลาย แต่ก็มีอะไรคล้ายๆ กัน คือต่างเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ของชนบทไทย (อันที่จริงคำว่าชนบทก็ไร้ความหมายไปแล้ว) มีความตื่นตัวทางการเมือง และมุ่งมั่นที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประมาณกันว่าคนประเภทนี้มีอยู่ 20-30% ของประชากรในชนบทเวลานี้

เพราะหลากหลายเช่นนี้ แต่ละกลุ่มจึงเป็นอิสระต่อกัน แม้ในอำเภอเล็กๆ หนึ่งอำเภอ ก็อาจมีกลุ่มเสื้อแดงภายใต้แกนนำดังที่กล่าวนี้หลายกลุ่ม นอกจากเป็นอิสระต่อกันแล้ว ว่าที่จริงก็แข่งขันกันในทีด้วย คนพวกนี้ประสานกับแกนนำระดับชาติ ผ่านสื่อวิทยุหรือทีวี และช่วยระดมผู้คนไปร่วมในการชุมนุมตามคำเรียกร้องของแกนนำ ที่ติดต่อกันได้จริงๆ มีน้อย

(ผมซึ่งนั่งเก้าอี้เท้าแขนทั้งวัน โดยไม่เคยลงไปวิจัยอะไร คิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำระดับชาติ และแกนนำระดับท้องถิ่นนั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ แต่ยังไม่เคยเห็นงานวิจัยของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้แต่สันนิษฐานจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า เป็นความสัมพันธ์ที่หลวมมากๆ แกนนำระดับจังหวัดเฉพาะบางคนเท่านั้น ที่อาจสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแกนนำระดับชาติบางคน และอาจรับนโยบายของแกนนำพรรคเพื่อไทยมาโฆษณาอย่างเซื่องๆ แต่เพราะส่วนใหญ่ของแกนนำในท้องถิ่นเป็นอิสระ อิทธิพลของแกนนำระดับจังหวัดจึงไม่อาจกำกับได้ เรื่องนี้เห็นได้ดีจากความขัดแย้งของขบวนการเสื้อแดงต่อกรณี ?ปรองดอง? โดยข้ามศพของผู้เสียสละเป็นร้อยเมื่อเร็วๆ นี้)

แกนนำท้องถิ่นอาจใช้ฐานความนิยมที่ตนมีไปสู่ตำแหน่งสาธารณะผ่านการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ ยังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนในท้องถิ่นต่อไปเรื่อยๆ นักวิชาการที่ลงไปศึกษาเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น “ผู้ประกอบการทางการเมือง” (political entrepreneur) แต่ “กำไร” ที่เขาพึงได้จากการประกอบการนี้คืออะไรไม่ชัดนัก เพราะ “กำไร” ที่เขาได้เป็นปกติมาจากการประกอบการทางเศรษฐกิจของเขาดังที่กล่าวแล้ว

คนเหล่านี้มีจำนวนมาก และลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน ที่ผมได้เห็นเองนั้น แม้แต่หมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนก็มีแกนนำเสื้อแดงหลายคนและหลายระดับด้วย ผมคิดว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่มีผู้ประกอบการทางการเมืองกระจายไปทั่วสังคมไทยอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้ (ทั้งนี้ยังไม่รวมแกนนำท้องถิ่นของเสื้อเหลือง ซึ่งไม่เคยมีใครศึกษา)

การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่จำนวนมากเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ประกอบการทางการเมืองเก่า (เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์, กองทัพ, พรรคและนักการเมือง, เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่, ฯลฯ) ล้วนต้องเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศทางการเมืองอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งตนไม่คุ้นเคย และหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางการเมืองที่ผมอยากพูดถึงคือ “เจ้าพ่อ”

“เจ้าพ่อ” เป็นผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นเก่า ถือกำเนิดขึ้นเพราะนโยบายพัฒนาของสภาพัฒน์ เป็นกุญแจสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะถ่ายโอนส่วนเกินจากชนบทมาหล่อเลี้ยงการเติบโตของเศรษฐกิจเมือง ในทางการเมือง ?เจ้าพ่อ? เป็นผู้รวบรวมคะแนนเสียงจากชนบทเพื่อส่ง ส.ส.ไปร่วมในพรรคการเมือง สร้างอิทธิพลระดับชาติ ซึ่งย่อมส่งผลมาถึงอิทธิพลระดับท้องถิ่นของตนด้วย

อันที่จริงระบบเจ้าพ่อเริ่มสลายตัวลง ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมาก่อนหน้าขบวนการเสื้อแดงจะเกิดขึ้นแล้ว ในทางเศรษฐกิจ เจ้าพ่อพบว่าธุรกิจในมุมมืดให้กำไรน้อยลง เพราะต้นทุนสูงขึ้น เจ้าพ่อหลายคนจึงโอนทุนที่สะสมไว้มาสู่ธุรกิจสว่าง (แม้ยังอาศัยอิทธิพลมืดเข้าช่วยด้วย) ธุรกิจสว่างบังคับให้เจ้าพ่อแผ่อิทธิพลด้วยวิธีการนอกกฎหมายได้ยาก การประกอบการทางการเมืองที่เคยทำอยู่ต้องเปลี่ยนไปสู่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น

ในทางการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคเล็กและมุ้งเล็กซึ่งเจ้าพ่อเป็นเจ้าของมีความสำคัญทางการเมืองน้อยลง

บัดนี้แม้ในการเมืองท้องถิ่นเอง ก็มีผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่ปรากฏขึ้น และยิ่งบั่นรอนการประกอบการทางการเมืองของเจ้าพ่อให้พังสลายเร็วขึ้น เพราะคนเหล่านี้ล้วนถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นอิสระจากเจ้าพ่อทั้งสิ้น

ในประการแรก เขามีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือกิจการทางธุรกิจของเขาไม่ได้สัมพันธ์กับธุรกิจของเจ้าพ่อ อย่างน้อยก็ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรง (เช่นไม่ได้เป็นนายหน้าแรงงานให้ไร่ส้มหรือไร่อ้อยของเจ้าพ่อ ถึงเป็นก็มีอำนาจต่อรองเสมอกันในยามที่แรงงานภาคเกษตรขาดแคลนอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้)

ประการต่อมา เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ เล็กบ้างใหญ่บ้าง และอย่างเป็นอิสระจากเจ้าพ่อด้วย ไม่ใช่เพราะเขาเป็นลูกน้องเจ้าพ่อ เขาจึงได้รับการสนับสนุน หากเพราะเขาเป็นตัวแทนของ “อุดมการณ์” ทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุน ความสามารถ เช่น พูดเก่ง, จัดการเก่ง, หรือจัดรายการวิทยุได้สนุก ฯลฯ ก็เป็นความสามารถส่วนตัวของเขา ไม่ได้หยิบยืมมาจากเจ้าพ่อ

บางส่วนของเขายังสามารถเข้าถึงการเมืองระดับชาติได้ แม้ไม่ใกล้ชิดเท่าเจ้าพ่อ แต่ก็พอได้บ้าง ยิ่งกว่านี้เขายังอาจปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลก็ได้ แม้แต่นโยบาย “ปรองดอง” แบบทักษิณได้คนเดียว แกนนำท้องถิ่นก็สามารถโวยวายจนกระทั่งคุณทักษิณต้องออกมาโทษ “คลื่นไม่ดี”… ไม่รู้ว่าคลื่นวิทยุหรือคลื่นสมอง

ดังนั้น ในแง่หนึ่งเขาก็พอจะคุมหรือต่อรองกับข้าราชการท้องถิ่นได้ระดับหนึ่ง อาจไม่เท่ากับเจ้าพ่อ แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าของอู่ซ่อมรถ หรือผู้รับเหมารายย่อย อย่างที่เป็นอย่างแน่นอน

ที่เหนือไปกว่าเจ้าพ่อก็คือ ประชาชนในท้องถิ่นย่อมเข้าถึงเขาได้ง่ายกว่าเจ้าพ่ออย่างเทียบกันไม่ได้ ซ้ำยังเข้าถึงแบบมีอำนาจต่อรองด้วย ไม่ใช่เข้าถึงเพื่อกราบกรานขอร้อง ให้ได้เท่าไรก็เท่านั้น

สภาพนิเวศน์ที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ลดบทบาทของเจ้าพ่อในการเมืองลงอย่างเห็นได้ชัด หรือมิฉะนั้นก็เปลี่ยนบทบาททางการเมืองของเจ้าพ่อที่ยังเหลืออยู่ในการเมืองระดับชาติให้กลายเป็นตัวตลก

ที่บางคนเคยคิดว่า พรรคอย่าง “พลังชล” จะกลายเป็นแบบอย่างให้เกิดพรรคการเมืองแบบนั้นอีกหลายพรรค ผมออกจะสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะกรณีเมืองชลเป็นข้อยกเว้นมากกว่าเป็นกฎทั่วไป โชคดีที่พรรครัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้วพลังชลเข้าร่วม พลังชลก็จะกลายเป็นปรปักษ์กับผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่บางกลุ่ม ผลจะเป็นอย่างไร ไม่ทราบได้ แต่เมืองชลจะไม่หวานคอแร้งแก่พรรคพลังชลอย่างเคยแน่

ผมออกจะสงสัยยิ่งกว่านั้นด้วยว่า ในสภาพนิเวศทางการเมืองอย่างเป็นอยู่นี้ แม้แต่คุณทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทยเอง ก็อย่าได้วางใจว่าจะได้คะแนนท่วมท้นจากผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างท่วมท้นเหมือนเคย

หลังจากปาหี่ของพรรคเพื่อไทยที่แสดงผ่านการลงมติที่จะทำให้วาระ 3 ของการแก้รัฐธรรมนูญไม่อาจผ่านไปได้ เสื้อแดงจำนวนหนึ่งบนเว็บไซต์ต่างๆ บอกว่า เลือกตั้งครั้งหน้าเขาจะกาช่องไม่ใช้สิทธิ แทนที่จะกาให้เพื่อไทย ผมไม่ทราบว่าคนเหล่านี้เป็นแกนนำเสื้อแดงในท้องถิ่นหรือไม่ แต่เพราะกลุ่มของแกนนำท้องถิ่นมีขนาดไม่สู้จะใหญ่นัก แกนนำท้องถิ่นจึงต้องฟังเสียงของประชาชนอย่างมาก

เพราะขึ้นชื่อว่าปาหี่ จะแสดงอย่างไรก็ไม่เนียนเท่าของจริงหรอกครับ

โดยสรุปก็คือ ผู้ประกอบการทางการเมืองในท้องถิ่นไทยได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว มีผลให้ระบบนิเวศทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะในระบอบที่ต้องมีการเลือกตั้งเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้ประกอบการทางการเมืองอื่นๆ จะปรับเปลี่ยนตนเองอย่างไร เพื่อให้ตนยังมีบทบาทในการเมืองต่อไป หากไม่เปลี่ยนเลยก็จะเหมือนเจ้าพ่อที่กำลังสูญพันธุ์

(ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2555)

มติชน, 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไฟที่ปลายอุโมงค์, สรกล อดุลยานนท์

11 June 2012 Leave a comment

ไฟที่ปลายอุโมงค์, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีมติรับ 5 คำร้องของวุฒิสมาชิกและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีมาตรา 68 ในวันที่ “ม็อบพันธมิตร” ชุมนุมล้อมสภากรณี พ.ร.บ.ปรองดอง

สถานการณ์การเมืองอาจไม่เป็นเหมือนที่เห็นในวันนี้

เพราะวันนั้น กลุ่มพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ

เนื้อหาใน พ.ร.บ.ปรองดองฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เรียกแขกได้ดีมาก

ทั้งศัตรูของ “ทักษิณ” ที่ไม่เห็นด้วยทุกเรื่อง แต่นั่งบ่นอยู่ที่บ้านก็ลงแรงลุกขึ้นมาค้านนอกบ้าน

กลุ่มคนที่อยู่กลางๆ ที่อยู่เฉยๆ ก็ไม่เห็นด้วย

ที่สำคัญคือกลุ่ม “คนเสื้อแดง” จำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นแนวร่วมของ “ทักษิณ” ก็ส่ายหน้ากับการนิรโทษกรรมคนที่สั่งฆ่าประชาชน

แต่ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไพ่เรื่องมาตรา 68 ออกมา

สถานการณ์ก็พลิกกลับ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “จินตนาการ” จากเทพนิยายเรื่อง “รัฐบาลเทพประทาน” ในอดีตหวนคืนมาอีกครั้ง

“ม็อบพันธมิตร-พรรคประชาธิปัตย์” และ “ตุลาการภิวัฒน์”

ขาดแต่ “กองทัพ” เพียงกลุ่มเดียว

ไม่เช่นนั้นจะครบ “จิ๊กซอว์” เทพนิยาย “รัฐบาลเทพประทาน”

เพราะเมื่อมาตรา 68 นั้นรุนแรงถึงขั้น “ยุบพรรค” คนย่อมคิดถึงประวัติศาสตร์การเมืองในอดีต

ไม่รู้ว่าคนที่เล่นเกมนี้ยังคิดว่าประเทศไทยยังเหมือนเดิมหรือเปล่าจึงทำให้เขาเล่นเกมแบบเดิมๆ

เพราะในความเป็นจริง เมืองไทยวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว

พลังมวลชนของ “ทักษิณ” คือ กลุ่มคนเสื้อแดง วันนี้ขยายตัวมากขึ้นกว่าวันก่อน

ในมุมกลับ พลังมวลชนของอีกฝั่งหนึ่งก็ร่อยหรอลง

ส่วนความเชื่อความศรัทธาต่อบางองค์กรวันนี้ก็ลดน้อยลง

คำว่า “สองมาตรฐาน” จึงแจ้งเกิดได้ในสังคมไทย

เมื่อ “ผู้ใหญ่” ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เขาจึงทิ้งไพ่ใบเดิม

เกมที่กำลัง “ได้เปรียบ” จากกรณี พ.ร.บ.ปรองดองจึงพลิกกลับมาอยู่ในสถานะที่ “เสียเปรียบ”

เพราะคนเสื้อแดงกับ “ทักษิณ” ที่กำลังมีรอยร้าวหวนกลับมาจับมือกันแน่นกว่าเดิม

ในขณะที่เหตุผลในการรับเรื่องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มี “จุดอ่อน” ให้โจมตีมากมาย

สถานการณ์ที่พลิกกลับครั้งนี้ทำให้เกมแห่งการปรองดองเปลี่ยนไป

เพราะ “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทยเริ่มหวาดระแวง

จากเดิมที่เคยคิดว่าพยายามหา “จุดกลาง” ที่ 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ เช่น นิรโทษกรรม

วันนี้ชัดเจนแล้วว่าอีกฝั่งหนึ่งไม่ยอมแน่

บางทีเกมการปรองดองอาจต้องเปลี่ยนไปเหมือนที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” พูดไว้เมื่อวันก่อน

คือ ต้องชนะอย่างเด็ดขาดแล้วค่อย “ปรองดอง”

คงเหมือนกับสหรัฐอเมริกาถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดนิวเคลียร์จนราบคาบ

จากนั้นก็ร่างสัญญาสันติภาพขึ้นมา

คงไม่มีใครอยากเห็นเมืองไทยเป็นอย่างนั้น

แต่เมื่อมองลอดอุโมงค์แห่งความดำมืด

ทุกคนเห็นแสงสว่างที่อยู่ปลายอุโมงค์

แต่ไม่แน่ใจว่าแสงสว่างนั้นเป็น “ทางออก”

หรือเป็นเปลวไฟของการล้างผลาญที่กำลังลุกลามเข้ามาหาเรา

ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2555

มติชน, 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

9 June 2012 Leave a comment

ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

การวิพากษ์วิจารณ์ต่อมติของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสั่งให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นเหตุการณ์ครั้งแรก

ซึ่งหลายฝ่ายมีท่าทีอย่างรุนแรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามกับจะพบว่าเหตุการณ์ในลักษณะทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

แม้อาจจะให้คำอธิบายว่าการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมาจากทางฝ่ายเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลมีความเห็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นประโยชน์หรือขัดแย้งกับแนวทางของทางเสื้อแดง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปให้ความสนใจมากนัก ดูจะเป็นคำปลอบประโลมที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากได้ติดตามกรณีการโต้แย้งที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งจะพบว่าปมปัญหาสำคัญประการหนึ่งไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องของจุดยืนทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความมีมาตรฐานในเหตุผลของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นับตั้งแต่การวินิจฉัยกรณีคุณสมัคร สุนทรเวช ให้พ้นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่าเป็นลูกจ้างในการเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าว ซึ่งมีข้อโต้แย้งอย่างกว้างขวางว่าไม่ได้สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่อธิบายถึงลักษณะของลูกจ้างตามกฎหมายจ้างแรงงานอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ผู้มีความรู้เบื้องต้นทางกฎหมาย

การยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถูกให้เหตุผลว่าการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาถึงความสมบูรณ์ในการยื่นคำร้องอย่างละเอียดลออ ทั้งในแง่ขั้นตอนและผู้ยื่นคำร้องว่าจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกกระเบียดนิ้ว มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถรับคำร้องได้

แต่พอมาถึงกรณียื่นคำร้องร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญกับเปิดกว้าง แม้จนกระทั่งดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจรองรับไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

หรือแม้กระทั่งเรื่องฉาวโฉ่ที่ปรากฏในศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ถูกชี้แจงต่อสาธารณะทั้งที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก วิธีการในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากนี้ของศาลรัฐธรรมนูญคือ การปิดปากเงียบต่อสื่อมวลชนและปล่อยให้ทุกอย่างค่อยๆ เงียบลงโดยหวังว่าจะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไปในที่สุด

ความเห็นอันเป็นมติของเสียงส่วนใหญ่ในศาลรัฐธรรมนูญกรณีสั่งให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็เช่นกัน ทำให้เกิดคำถามที่ยากจะตอบได้ถึงอำนาจรองรับในทางรัฐธรรมนูญอย่างน้อยใน 3 เรื่องสำคัญ คือ ผู้ยื่นคำร้อง เหตุของการยื่นที่ว่าด้วยการล้มล้างรัฐธรรมนูญ และการสั่งให้ชะลอการพิจารณาในการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ

โดยที่ได้มีการโต้เถียงในประเด็นนี้อย่างกว้างขวางเกิดขึ้นแล้ว ประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็นในที่นี้จึงไม่ใช่เรื่องสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น หรือเป็นปัญหาทางด้านความรู้ความสามารถเฉพาะตัวบุคคลของผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในทรรศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่ามีปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญตามที่มีอยู่ในปัจจุบันมีส่วนต่อประเด็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้

ประเด็นสำคัญที่ควรต้องมีการตระหนักและรวมไปถึงการปรับแก้เพื่อจะทำศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐาน สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สาธารณะได้ในทุกครั้งที่มีการวินิจฉัยเกิดขึ้น มีเรื่องที่ต้องขบคิดอย่างน้อยใน 3 ประเด็น

ประการแรก ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ที่กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มคนที่แคบและสามารถกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่มาจากสถาบันตุลาการ ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในทางสังคมการเมือง (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความถึงเส้นสายทางการเมือง) จึงจะสามารถทำให้ตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ได้บนหลักการและคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมได้อย่างแท้จริง

ประการที่สอง ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ความเชื่อเรื่องตุลาการภิวัฒน์เป็นผลให้มีการเพิ่มอำนาจของสถาบันตุลาการอย่างมาก และหวังว่าจะเป็นสถาบันหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมไทยอันเนื่องมาจากการล้มละลายของสถาบันอื่นๆ จนไม่อาจเป็นฝากผีฝากไข้ไว้ได้

แต่ก็อย่างที่รับรู้กันว่าสถาบันตุลาการก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในทางการเมืองไปด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนถึงขอบเขตของสถาบันตุลาการในทางการเมืองว่าควรจะมีพื้นที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด เฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญในทางการเมือง

ประการที่สาม การควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญโดยสังคม อำนาจของสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ มากกว่าการบิดเบี้ยวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีกระบวนการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ แต่กระบวนการดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ยากมาก จะเห็นได้ว่าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงไม่ว่าข้าราชการประจำหรือการเมืองล้วนแต่ไม่สะดุ้งสะเทือนกับกระบวนการนี้มากเท่าไหร่

ต้องคิดถึงกระบวนการในการตรวจสอบหรือการสร้างความรับผิดจากการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญให้บังเกิดขึ้นในความเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการใช้หรือตีความรัฐธรรมนูญได้อย่างตามใจโดยไม่มีหลักกฎหมายที่ชัดเจนรองรับ

ศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อการแก้ไขความขัดแย้งในทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันหากศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสร้างความยอมรับถึงเหตุผลของการวินิจฉัยก็ย่อมสร้างปัญหาความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่ควรขบคิดก็คือการพยายามสร้างองค์กรศาลรัฐธรรมนูญให้สามารถปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการช่วยให้สังคมการเมืองไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสงบ สันติ และด้วยความเป็นธรรมที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับ

กรุงเทพธุรกิจ, 7 มิถุนายน 2555

รัฐนาฏกรรม, นิธิ เอียวศรีวงศ์

7 June 2012 Leave a comment

รัฐนาฏกรรม, นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนึ่งในแนวคิดเกี่ยวกับรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนสมัยใหม่ ซึ่งนักวิชาการด้านนี้ได้สร้างเอาไว้ก็คือ รัฐโบราณเหล่านี้ล้วนเป็นรัฐนาฏกรรม (theatrical state) รัฐคือโรงละคร มีหน้าที่แสดง

แสดงอะไรหรือครับ ก็แสดงความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง บารมีอันเปี่ยมล้นของพระราชา ความมีพลังอำนาจในการอุปถัมภ์ค้ำจุน รวมทั้งการจำลองอำนาจในจักรวาลออกมาเป็นรูปธรรมบนพื้นโลกในขนาดที่ย่อส่วนลงมา (เช่น มีพระศิวะหรือพระอินทร์ และเหล่าเทพบริวารคอยรับใช้)

จะสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็ได้ว่า รัฐคือแบบจำลองของจักรวาลอันมีพระเจ้าถือเกียรติยศและอำนาจสูงสุด ความยิ่งใหญ่อลังการต่างๆ ของพระราชา ก็คือแบบจำลองของพระเจ้านั่นเอง

ผมควรเตือนท่านผู้อ่านด้วยว่า การแสดงดังกล่าวนี้ไม่ได้มีเหตุมาจากการที่พระราชายกตัวเองเป็นพระเจ้าเท่านั้น แต่ระเบียบของจักรวาลคือระเบียบของโลก “ละคร” ที่รัฐแสดงให้ดูนี้ คือการยืนยันระเบียบที่ทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า ตัวจะสามารถมีชีวิตอย่างมั่นคง (แปลว่าไม่เปลี่ยนแปลง) และอย่างมีความสุขตามอัตภาพ คือสุขทุกข์ตามสถานภาพของตนเอง (ไม่ใช่สุขเท่าๆ กัน)

…………………………………….

ทำไมรัฐโบราณของอุษาคเนย์จึงต้องเป็นรัฐนาฏกรรม?

คําตอบมีสองอย่าง คืออย่างง่ายและอย่างยาก

ผมขอพูดถึงคำอธิบายอย่างง่ายก่อน

หากไม่นับหว่างเด๊ของเวียดนามแล้ว พระราชาของรัฐอุษาคเนย์โบราณ หาได้มีพระราชอำนาจมากล้นจริงจังไม่ เริ่มจากการเปรียบเทียบกับเวียดนามก็ได้ แม้ว่าพระราชามีข้าราชการปฏิบัติงานตามพระราชโองการ แต่ข้าราชการเหล่านี้ไม่ได้มาจากการสอบคัดเลือกอย่างการสอบของเวียดนาม (ซึ่งเอาอย่างมาจากจีน) ซึ่งเปิดให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถสมัครสอบได้ แต่มักเป็นลูกท่านหลานเธอหรือมาจากตระกูลซึ่งมีอำนาจในตัวเอง ที่พระราชาต้องประนีประนอมด้วย

ดังนั้น ระบบราชการจึงเป็นหอกข้างแคร่ของพระราชาเสมอ ไม่มีก็ไม่ได้ มีก็ต้องระวังตัวทุกฝีก้าว

นอกจากนี้ พระราชาไม่มีกองทัพประจำการ ไม่มีเครื่องมือสื่อสารคมนาคม (ไม่จำเป็นต้องคิดถึงโทรเลขหรือโทรทัศน์เสมอไป แต่ไม่มีแม้แต่ระบบม้าเร็วอย่างที่เปอร์เซีย, โรมัน, จีน มี) ไม่มีโรงเรียนเพื่อการศึกษามวลชน ไม่มีตำรวจ ไม่มีเจ้าพนักงานเก็บภาษี พูดง่ายๆ คือไม่มีเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐอย่างที่จะทำให้พระองค์มีพระราชอำนาจจริงๆ สักอย่าง

อำนาจจึงต้องตั้งอยู่บนการแสดง หรือเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ หนึ่งในการแสดงที่สำคัญคือพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งรัฐต้องทำให้ได้ชมกันเป็นประจำ ในเมืองไทยนั้นทำกันทุกเดือนเลยทีเดียว ดังที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลของกฎหมายตราสามดวง สิ่งหนึ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ในพระราชพิธีต่างๆ คือขบวนแห่ ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถวัดพระแก้วคือภาพขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค เหมือนหนึ่งเป็นตำรา (แปลว่าที่ “ตรา” เอาไว้) สำหรับเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องตลอดไป

(อันที่จริง มีตำราที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับขบวนแห่ทั้งสองประเภทนี้ ซึ่งสืบค้นจากความทรงจำของคนเก่าๆ และจดไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ด้วย)

ขบวนแห่เป็น “ละคร” ที่ให้สารสำคัญบางอย่าง จึงต้องเคร่งครัดกับแบบธรรมเนียม สารที่ว่านั้นคืออะไรบ้าง ผมคิดว่ามีดังต่อไปนี้

  1. ความมั่งคั่งหรูหราอุดมสมบูรณ์ เพราะทุกคนแต่ง “เต็มยศ” แม้แต่ไพร่เลวที่ถูกเกณฑ์เข้าขบวน ก็ยังสวมเสื้อสีต่างๆ อันเป็นหน้าที่ของคลังศุภรัตน์ต้องจัดหาให้
  2. อย่างที่สอง คือสถานภาพอันสูงสุดของพระราชา หรือบุคคลที่พระราชามอบหมายให้ทำหน้าที่แทน หรือพระโกศ พระราชยานที่ประทับตั้งอยู่กึ่งกลางขบวนค่อนไปข้างหน้า แวดล้อมด้วยไพร่พลหน้าหลัง มีเครื่องยศนับตั้งแต่บังสูรย์และอื่นๆ ล้อมหน้าหลัง
  3. อย่างที่สาม คือการแสดงช่วงชั้นทางสังคม ขุนน้ำขุนนางหรือแม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จะเดินในขบวนแห่ตรงไหน ใกล้ไกลจากพระราชาเท่าไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอาเอง หรือแทรกลงไปในที่ว่างตามใจชอบ แต่ต้องจัดขึ้นให้ตรงกับสถานภาพที่แท้จริงของแต่ละคน สารของ “ละคร” ตรงนี้ ช่วยตอกย้ำระเบียบทางสังคมของรัฐโบราณเหล่านี้ คือความไม่เสมอภาคเป็นระเบียบที่ขาดไม่ได้ในสังคมที่สงบสุข

ผู้อ่านบางท่านอาจท้วงผมว่า ในเมืองไทยโบราณ เขาห้ามประชาชนเงยหน้าขึ้นดูพระราชา ต้องหมอบก้มหน้าอยู่กับพื้นเท่านั้น “ละคร” จึงแสดงโดยไม่มีคนดู และไม่มีผลในทางสังคมและการเมืองอย่างไร

ผมก็อยากชี้ให้เห็นว่า ประชาชนผู้หมอบก้มหน้าบนหนทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น เป็นฉาก “ละคร” ที่ขาดไม่ได้ของขบวนแห่ ผมไม่ทราบว่าในสมัยนั้นเขาเกณฑ์มาให้นั่งก้มหน้าอย่างนั้นหรือไม่ คิดว่าคงไม่ เพราะรัฐโบราณไม่มีสมรรถภาพพอจะเกณฑ์ได้ แต่ถึงอย่างไร เมื่อพระราชยานที่ประทับผ่านไปแล้ว ก็ย่อมเงยหน้าขึ้นชมขบวนแห่ได้ และหลังรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ได้ห้ามชมพระบารมีอีกแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างของรัฐนาฏกรรมโดยคำอธิบายอย่างง่าย สรุปก็คือนาฏกรรมเข้ามาแทนที่อำนาจที่เป็นจริง

ผมขอไม่พูดถึง “ละคร” อื่นๆ นอกจากพระราชพิธี เช่น พระราชวัง, วัดหลวง มัสยิดหลวง, ละครหรือการแสดงของหลวง, เครื่องราชูปโภค, นางห้าม, ฯลฯ ล้วนส่งสารอย่างเดียวกัน

…………………………………….

คำอธิบายอย่างยากนั้น ผมเอามาจากหนังสืออันลือชื่อเรื่อง Negara, The Theatre State in Nineteenth-Century Bali ของศาสตราจารย์ Clifford Geertz

บาหลีในช่วงนั้นประกอบด้วยรัฐเล็กรัฐน้อยมากมาย และพระราชาหาได้มีอำนาจจริง (อย่างรัฐบาลปัจจุบัน) สักแห่งเดียว แต่ Geertz ไม่ได้คิดว่า ความเป็นรัฐนาฏกรรมของรัฐบาหลีเหล่านั้น เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการรักษาเพิ่มพูนอำนาจของผู้ปกครอง

ปัญหาทั้งหมดมาอยู่ที่ว่า ในโลกปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงรัฐ ความคิดที่อยู่หลังหัวของเรา คือแนวคิดเรื่องรัฐแบบตะวันตก ซึ่งเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 เช่น รัฐเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงทั้งหมดไว้แต่ผู้เดียว รัฐคือเจ้าของอาณาบริเวณ (ทางภูมิศาสตร์) อันหนึ่ง ฯลฯ

แต่รัฐบาหลี (ซึ่ง Geertz พูดไว้ชัดเจนว่า นัยยะของมันใช้อธิบายรัฐโบราณของอุษาคเนย์ได้หมด) ไม่ใช่ “รัฐ” อย่างนั้น และด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงใช้คำบาหลีเรียกแทน นั่นคือ “นคระ” และเนื้อหาสำคัญของ “นคระ” คือรัฐนาฏกรรม

ตัวนาฏกรรมนั่นแหละครับคือรัฐ

จะพูดว่ารัฐไม่ใช่อำนาจทางการเมืองก็เกือบจะใช่เพราะอำนาจในการจัดการชีวิตคนในสังคมบาหลีนั้น แม้มีหลายสถาบันหรือองค์กร แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของ “นคระ” เด็ดขาดสักอย่างเดียว หลายองค์กรนั้นไม่เกี่ยวกับ “นคระ” เลย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “นคระ” ไม่มีความสำคัญ “นคระ” ให้ความหมายแก่ชีวิตของผู้คน เป็นหมุดหมายที่ขาดไม่ได้ของระบบเกียรติยศหรือช่วงชั้นทางสังคม (ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับตำแหน่งแหล่งที่ในรัฐ แต่ขึ้นกับสายสัมพันธ์ของกลุ่มเครือญาติชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะของบาหลีเอง เรียกในภาษาบาหลีว่า “ดาดิอา”)

ในขณะเดียวกัน “ละคร” ที่ “นคระ” แสดงให้ดู ก็ช่วยกำหนดตำแหน่งแหล่งที่ของผู้คนแต่ละคนในจักรวาล เป็น “ตัวฉัน” ที่จะใช้ในการสัมพันธ์กับโลกข้างนอกตัวเรา นับตั้งแต่คนในครอบครัวไปจนถึงเพื่อนบ้าน, พ่อค้าแม่ค้า, พราหมณ์, คนเก็บภาษี, ไปจนถึงพระเจ้า และโลกหน้า ฯลฯ

Geertz กล่าวว่า “รัฐพิธีไม่ใช่ลัทธิพิธีของรัฐ แต่เป็นข้อถกเถียงซึ่งกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยศัพท์ของพิธีกรรมที่ใช้กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบอกว่าสถานภาพทางโลกล้วนมีฐานในจักรวาล ความเป็นช่วงชั้นคือหลักการที่ครอบงำจักรวาล และบอกว่าชีวิตมนุษย์เป็นแต่เพียงการจำลองอย่างใกล้เคียงบ้างไม่ใกล้เคียงบ้างของชีวิตเทพยเจ้า”

และ “พิธีฉลองของรัฐในบาหลีโบราณเป็นละครอภิปรัชญา นั่นคือละครที่ออกแบบมาเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับธรรมดาของความเป็นจริง และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อกำหนดให้สภาพชีวิตที่เป็นอยู่สอดคล้องกับความเป็นจริงสูงสุดนั้น นั่นก็คือละครที่เสนอธรรมะ [สภาวะที่เป็นอยู่จริง] และเพราะได้เสนอธรรมะจึงเท่ากับทำให้มันเกิดขึ้น หรือทำให้มันเป็นจริง”

ความยิ่งใหญ่ของพระราชาในนาฏกรรมที่แสดงให้ดู จึงทำให้ชาวบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่นั้นด้วย “พระราชาคือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของชาวนา”

สัญลักษณ์สำคัญของ “นคระ” ทั้งสามอย่างย่อมกลืนกันไปกับสภาพที่เป็นจริงของสังคมบาหลี สัญลักษณ์อย่างแรกคือศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา ความเป็นพระราชาย่อมเป็นสัญลักษณ์ของนายเหนือหัว และนายเหนือหัวคือสัญลักษณ์ของประโยชน์สุขร่วมกัน

สัญลักษณ์อย่างที่สองคือปัทมะหรือดอกบัว (ที่ประทับของพระเจ้า-ปัทมาสน์) อันเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวัง พระราชวังคือสัญลักษณ์ของราชอาณาจักร และราชอาณาจักรคือสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน

สัญลักษณ์อย่างที่สามคือ Sekti (จาก “ศักติ” ในสันสกฤตคืออำนาจในทางโลก ภาษาไทยคงเป็นอานุภาพและบารมี) คือสัญลักษณ์ของสถานภาพ สถานภาพคือสัญลักษณ์ของอาญาสิทธิ์ และอาญาสิทธิ์คือสัญลักษณ์ของความเคารพนบนอบ

สัญลักษณ์หมดนะครับ ไม่ใช่อำนาจหรือที่มาของอำนาจซึ่งเป็นวิธีอธิบายองค์ประกอบของรัฐแบบตะวันตก

รัฐโบราณของภูมิภาคนี้ถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของจักรวรรดินิยมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนหมด ต่างก็สร้างกลไกแห่งอำนาจแบบรัฐสมัยใหม่ขึ้นแทนที่นาฏกรรมกันทุกประเทศ

จริงอยู่ นาฏกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐทุกรัฐ แม้ในสมัยปัจจุบัน (อังกฤษกำลังจะฉลอง 60 ปีแห่งการครองราชย์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างยิ่งใหญ่) แต่เพราะเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ รัฐเหล่านั้นจึงไม่ใช่รัฐนาฏกรรม

ความเป็นรัฐนาฏกรรมซึ่งอยู่กับภูมิภาคนี้มานานก็ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย(เมื่อเทียบกับจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ) แต่ก็มีปริมาณไม่เท่ากันในแต่ละรัฐของอุษาคเนย์ ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยตรง ความเป็นรัฐนาฏกรรมเหลืออยู่น้อย แต่ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยอ้อม ส่วนหนึ่งที่สำคัญของรัฐเหล่านี้คือความเป็นรัฐนาฏกรรมสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แต่นาฏกรรมที่ขาดความเชื่ออย่างที่คนโบราณเชื่อจะเกิดขึ้นได้อย่างไร (ในงานปลงศพของราชารัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งในบาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีคนมาชมงานถึง 50,000 คน คิดเป็น 5% ของประชาชนทั่วเกาะบาหลีในเวลานั้น)

คำตอบคือการลงทุนอย่างมโหฬารในทุกทาง เพื่อให้ละครที่จัดแสดงเป็นการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจและประทับใจไปอีกนาน

(ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 1-7 มิถุนายน 2555)

มติชน, 02 มิถุนายน 2555

รัฐประหารคือการทุจริตทำลายชาติ, ดร.โสภณ พรโชคชัย

5 June 2012 Leave a comment

รัฐประหารคือการทุจริตทำลายชาติ, ดร.โสภณ พรโชคชัย

โดยดร.โสภณ พรโชคชัย

” . . . .ก็ยังมีเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง ได้คุยกับผม ท่านเป็นนายทหาร เป็นชั้นนายพล ต้องพูดว่า การปฏิวัติครั้งหนึ่ง ๆ พวกคณะปฏิวัติร่ำรวยกันมหาศาล ถ้าใครปฏิวัติแล้วมีเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ถือว่ามือตกมาก ทำให้ผมมีความรังเกียจในการปฏิวัติรัฐประหารมากมายเหลือเกิน”

ข้างต้นเป็นคำกล่าวของนายโสภณ จันเทรมะ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ในระหว่างการอภิปรายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนให้ต่อต้านการทุจริต” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระดับสูง รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผู้เขียนได้เข้าศึกษาและจบการศึกษาไปแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ คงเป็นเพราะว่าในการทำรัฐประหารครั้งหนึ่ง ๆ คณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน และไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ ตัวอย่างเช่น คณะรัฐประหารสามารถเบิกเงินจากคลังหลวงออกมาใช้สอยตามอัธยาศัย เพื่อการยึดอำนาจ การรักษาอำนาจที่ยึดมา และเผื่อไว้เพื่อการหนีออกนอกประเทศ หากรัฐประหารนั้น ๆ กลายเป็นกบฏ แต่หากสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ก็ได้เงินไปใช้สบาย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องส่งคืนคลัง

โดยนัยนี้รัฐประหารก็คือการทุจริตในรูปแบบหนึ่ง เป็นการโกงเงินของประเทศชาติและประชาชน เอาไปใช้เพื่อการยึดอำนาจให้กับกลุ่มของตนโดยไม่ต้องส่งคืนคลังหลวง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีรัฐประหารครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่แสดงรายรับรายจ่ายเพราะถือเป็นความลับแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงก็คือความลับในการปฏิบัติการยึดอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ

ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นก็คือรัฐประหารเป็นการกระทำทุจริตที่กลับกลายเป็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการของประชาชนที่ถูกล้มล้างไป เพราะอำนาจรัฐประหาร นอกจากการทุจริตแล้ว ยังสามารถสั่งฆ่า สั่งยึดทรัพย์ หรือสั่งทำลายหรือให้รางวัลแก่ใครก็ได้โดยเสมือนชอบด้วยกฎหมาย และสุดท้ายคณะรัฐประหารเองรวมทั้งการกระทำทั้งปวงของคณะรัฐประหารก็มักได้รับการนิรโทษกรรมไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น รัฐประหารก็คือความเถื่อนหรืออนารยะ เพราะรัฐประหารกระทำการด้วยการใช้กำลังอาวุธมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ และยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทย ในระหว่างทำการ คณะรัฐประหารมักจะหาข้ออ้างมากมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเดิมที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การใช้กำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่ามาเอาชนะจนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ และทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นฝ่ายกบฏหรือฝ่ายที่ไม่ชอบธรรม ย่อมแสดงถึงความเถื่อน และความไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐของคณะรัฐประหารเอง และด้วยกำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่า จึงปิดปากวิญญูชนได้ (ชั่วคราว)

โดยที่ธรรมชาติสำคัญของการรัฐประหาร ก็คือ การใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบและไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน จึงกลายเป็นบ่อเกิดของการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้ที่ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ที่ชิงความได้เปรียบเหนือบุคคลอื่น จึงต้องเข้าหาคณะรัฐประหารซึ่งมีอำนาจสูงสุด การทุจริตต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตามมา และด้วยเหตุนี้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารหรือผู้เผด็จการต่าง ๆ จึงมักกลายสภาพเป็นทรราช ที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ

ยิ่งกว่านั้น หลังจากการทำรัฐประหาร ผู้ที่ได้ประโยชน์หรือ “ส้มหล่น” ก็คือผู้ที่ร่วมปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ให้เกิดรัฐประหาร บุคคลเหล่านี้ก็จะได้รับลาภยศ ถูกแต่งตั้งให้เป็นตุลาการบ้าง กรรมการในองค์กรอิสระที่ถูกอำนาจรัฐประหารครองงำบ้าง หรือสภา “เปรซิเดียม” (เอาไว้ออกกฎหมายเข้าข้างพวกเดียวกัน) ที่แต่งตั้งกันเองโดยคณะรัฐประหารตามอำเภอใจโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง หรือไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน บุคคลเหล่านี้ได้อำนาจมาจากปากกระบอกปืนของฝ่ายรัฐประหารโดยแท้ นี่คืออีกบริบทหนึ่งของการโกงกินทรยศต่อชาติ

ดังนั้นเราจะไปตั้งความหวังว่าจะมีคณะรัฐประหารใดกระทำการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเฉกเช่น ‘พระเอกขี่ม้าขาว” นั้น ย่อมเป็นความหวังที่เลื่อนลอย เป็นความหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของคณะรัฐประหารและสมุนของคณะรัฐประหารนั้น ๆ เท่านั้น เพราะเนื้อแท้ของการัฐประหารก็คือการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่การอภิวัฒน์เช่นการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ที่คณะราษฎรกระทำการเพื่อประเทศไทยโดยตรง

ที่สำคัญรัฐประหารสร้างความวิบัติซ้ำซ้อนให้กับประเทศไทย ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยตกต่ำ กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเช่นประเทศด้อยพัฒนาระดับล่าง ๆ ของโลก ที่มักใช้กำลังอาวุธขู่เข็ญเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ แทนที่จะรอคอยการเปลี่ยนแปลงตามกลไกทางการเมืองเช่นอารยะประเทศ ทำให้เกียรติภูมิของประเทศลดลง โอกาสการลงทุนของชาวต่างประเทศในไทยก็ลดน้อยลงไปด้วย อาจกล่าวได้ว่าการทุจริตอื่นอาจส่งผลเสียเฉพาะจำนวนเงินที่ปล้นหรือลักไป แต่รัฐประหารจะส่งผลเสียเป็นเท่าทวีต่อประเทศชาติ ถ้าประเทศไทยเกิดรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ไทยก็จะตกต่ำยิ่งกว่าพม่าที่เพิ่งเริ่มมีประชาธิปไตย

คนไทย (บางส่วน) ไม่ควรหลงผิดไปเห็นดีเห็นงามกับอำนาจนอกระบบ จนสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ไทยควรเข้าสู่สังคมอารยะ รู้จักเกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศ เลิกคิดทำรัฐประหารกันได้แล้ว

ข่าวสดออนไลน์, 01 มิถุนายน 2555

สัญลักษณ์”เถื่อน”, สรกล อดุลยานนท์

2 June 2012 1 comment

สัญลักษณ์”เถื่อน”, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

ในกองบรรณาธิการนิตยสารเล่มหนึ่ง ขณะที่ทีมงานกำลังนั่งดูข่าว นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ขว้างหนังสือใส่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

น้องผู้หญิงคนหนึ่งเปิดประตูเดินเข้ามา

พอเห็นภาพในจอโทรทัศน์ เธอตั้งคำถามซื่อๆ

“พี่..สภาประเทศไหนเหรอ”

นี่คือ “เรื่องจริง”

เพราะไม่มีใครคิดว่าภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย

ไม่มีใครนึกว่าคนที่ก่อเหตุตั้งแต่การดึงตัวประธานสภา ลากเก้าอี้ประธานสภา จนถึงขั้นขว้างเอกสารใส่ประธานสภา

จะเป็น ส.ส.ที่มาจากพรรคการเมืองที่ประกาศตัวว่า “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา”

“ประชาธิปัตย์” กำลังสร้างมาตรฐานใหม่ของ “ระบบรัฐสภา” ที่เขาเชื่อมั่น

นพ.วรงค์บอกว่า นี่คือการประท้วงเชิง “สัญลักษณ์”

หมายความว่า ต่อไปนี้ถ้า ส.ส.ไม่พอใจใคร ก็สามารถประท้วงด้วยการขว้างสิ่งของใส่ได้

ถ้าประโยคนี้ออกมาจาก “จิ๊กโก๋ปากซอย” ผมจะไม่แปลกใจเลย

แต่คำพูดนี้มาจากคนที่เป็น ส.ส. และมีคำว่า”นายแพทย์”นำหน้า

น่ากลัวมาก

คนเราทุกคนนั้นมีโอกาสทำผิดพลาดได้ เวลาโกรธมากๆ คนเราอาจทำอะไรรุนแรงเกินไป

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อสงบสติอารมณ์ได้แล้ว สามัญสำนึกในใจบอกตัวเราว่าอย่างไร

“ถูกต้อง” หรือ”ผิดพลาด”

“ดุลพินิจ”ในการแยกแยะ “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” เป็นเรื่องสำคัญมาก

ยิ่งคนเป็น “หัวหน้า” ยิ่งสำคัญ

คำแถลงของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่าหากภาพลักษณ์ของพรรคเสียหายแต่สามารถสกัดกั้นกฎหมายทำลายชาติได้ ก็ยอมรับที่จะเสียภาพลักษณ์

“สิ่งที่อยากขอโทษมีเพียงเรื่องเดียว คือ ขอโทษที่ไม่สามารถสกัดการใช้อำนาจโดยมิชอบเข้ามาในสภาได้”

สรุปคือ ไม่ขอโทษที่ลูกพรรคขว้างของใส่ประธานสภา และยอมรับพฤติกรรมเช่นนั้นเพราะเชื่อว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการสกัดกั้น พ.ร.บ.ปรองดอง

ในอีกมุมหนึ่ง “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์รายการ Hot Topic ของ “ว้อยซ์ ทีวี” กรณีที่ “รังสิมา รอดรัศมี” ขึ้นไปลากเก้าอี้ประธานสภาซึ่งรุนแรงน้อยกว่า “น.พ.วรงค์” ขว้างเอกสารใส่นายสมศักดิ์

“พิชัย”บอกว่าถ้าเขาเป็นหัวหน้าพรรคจะส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการจริยธรรมของพรรคพิจารณา

“จะบอกว่าประธานสภาเบี้ยว เราจึงทำบ้าง แสดงว่าไม่เคารพซึ่งกันและกันเลย ผมเป็นหัวหน้าจะไม่พูดเช่นนั้น แต่จะขอโทษด้วยซ้ำ ผมจะบอกคุณรังสิมาว่าพูดดีมาก แต่คุณไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น”

นี่คือ ดุลพินิจในแยกแยะ “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” ของแต่ละคน

ไม่แปลกหรอกครับที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง “พิชัย” จะยืนยันต่อต้านการรัฐประหาร แม้จะไม่เห็นด้วยกับ”ทักษิณ”

เช่นเดียวกับไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ในขณะที่หัวหน้าพรรคบางคนไม่เคยรู้สึกผิดเลยที่ให้เลขาธิการพรรคไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

และไม่เคยรู้สึกผิดที่สั่งให้ใช้กระสุนจริงในการสลายมวลชน

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 โดย สรกล อดุลยานนท์ หน้า 2 มติชนรายวัน 2 มิถุนายน 2555

มติชน, 02 มิถุนายน 2555